ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
---|
มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น
|
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2560 การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นภายหลังส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างในสภาพเรียบร้อยถูกต้องตามสัญญาแล้ว มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเพราะผู้รับจ้างปฏิบัติหรือทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ร. ข้อ 6 มีความว่า เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างรายใหม่ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 5 หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นภายในกำหนด 1 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไว้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิกระทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์บรรยายฟ้องว่า ความชำรุดบกพร่องเสียหายเกิดจากการที่บริษัท ร. ใช้วัสดุไม่ถูกต้องหรือทำงานไม่เรียบร้อยไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลแห่งความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการดำเนินการตามสัญญาจ้างของบริษัท ร. โดยตรง มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัท ร. ส่งมอบงานที่รับจ้างที่ถูกต้องสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องให้แก่โจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ ซึ่งโจทก์และบริษัท ร. ผูกพันต้องปฏิบัติต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 ที่จะนำอายุความตามมาตรา 601 มาใช้บังคับ และไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนี้ แม้จะนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง อันเป็นวันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นครั้งแรกจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ยังเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13619/2553 การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องตามสัญญาจ้างทำของอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่เฉพาะกรณีความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาและงานที่ทำปรากฏการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลัง 1 ปี นับแต่วันส่งมอบหรือที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี สำหรับสิ่งปลูกสร้างในพื้นดิน กรณีตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น กรณีดังกล่าวจึงไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2526/2552 โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ออกแบบก่อสร้าง ทำการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมยานนาวาตามสัญญาว่าจ้าง โดยมีข้อตกลงในการประกันผลงานในข้อ 5.3 ซึ่งให้สิทธิโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างในการดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เองในกรณีที่เกิดการชำรุดเสียหายแก่อาคารซึ่งเหตุชำรุดเสียหายเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง และโจทก์ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างต้องรีบทำการแก้ไข ซ่อมแซมภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดแล้ว แต่ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องให้เสร็จภายในเวลาที่โจทก์กำหนด โดยผู้รับจ้างยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้สัญญาว่าจ้างข้อ 10.2 ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา ยังให้สิทธิโจทก์ที่จะว่าจ้างผู้อื่นมาทำงานแทนผู้รับจ้างได้โดยมิต้องบอกกล่าวหรือให้ผู้รับจ้างยินยอมแต่อย่างใด และค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้รับจ้างยินยอมให้โจทก์เรียกร้องจากผู้รับจ้างทั้งหมด สัญญาข้อที่ 10.2 นี้อยู่ในส่วนของเงื่อนไขทั่วไปของสัญญาว่าจ้าง จึงไม่ใช่ใช้เฉพาะกรณีที่งานของจำเลยที่ 1 ยังไม่แล้วเสร็จเท่านั้น แต่ใช้ได้ตลอดเวลาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีนิติสัมพันธ์กันอยู่และยังเป็นข้อตกลงตามสัญญาอย่างหนึ่งที่ให้สิทธิโจทก์ในการว่าจ้างบุคคลภายนอกทำงานแทนผู้รับจ้างได้ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา สำหรับกรณีคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดพบพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับกรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา เมื่อได้ส่งมอบงานกันแล้วปรากฏว่างานที่ว่าจ้างมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายหลังจึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้น แต่กรณีคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นซึ่งผูกพันกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามสัญญา กรณีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 601 ทั้งกรณีของโจทก์ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อโจทก์พบความชำรุดบกพร่องในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมแก้ไขอาคารรวม 2 ครั้งแล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการซ่อมแซมแทนจำเลยที่ 1 ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบค่าจ้างที่โจทก์เสียไปทั้งหมดตามสัญญาข้างต้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 ซึ่งนับแต่วันที่พบความชำรุดบกพร่องถึงวันฟ้องยังไม่เงิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ บทความที่น่าสนใจ-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร -การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ -คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ -ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้ -ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร -ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ -หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่ -การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด -ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่ -ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร -คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว -การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่
|